“ภูทอกแหล่งพระธรรม ค่าล้ำยางพารา งามตาแก่งอาฮง บึงโขงหลงเพลินใจ น้ำตกใสเจ็ดสี ประเพณีแข่งเรือ เหนือสุดแดนอีสาน นมัสการหลวงพ่อใหญ่ ศูนย์รวมใจศาลสองนาง” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดบึงกาฬจังหวัดใหม่ที่ถือกำเนิดเกิดขึ้นมาจากการแยกตัวออกจากหนองคาย โดยบึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสุดของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร 765 กิโลเมตร จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. 2554 อันมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป โดยแยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอเซกา อำเภอโซ่พิสัย อำเภอบุ่งคล้า อำเภอบึงโขงหลง อำเภอปากคาด อำเภอพรเจริญ และอำเภอศรีวิไล ออกจากการปกครองของจังหวัดหนองคาย
สำหรับจังหวัดบึงกาฬนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวที่มากมาย แต่มีที่หนึ่งถือว่าเป็น Gimmick ของจังหวัดนี้เลยคือ การมาไว้ขอพร ปู่อือลือ เกาะดอนโพธิ์ ถือว่าจุดนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ฮิตกันมากในหมู่สานมูเตลูทั้งหลาย ที่ในชีวิตนี้อยากจะมีโอกาสสีกครั้งได้มาสักการะพ่อปู่ และขอพรต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละคน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นไปทางขอโชค ขอเลข ขอให้ถูกหวย ขอให้ค้าขายร่ำรวย ขอพรต่างๆ ตามที่อยากจะขอ
ตำนานพ่อปู่อือลือ เกาะดอนโพธิ์
ตำนานที่เราจะกล่าวถึงนี้เราได้เรียบเรียงข้อมูลมาจาก หมอลักษณ์ โหรฟันธง หรือ อาจารณ์ลักษณ์ เรขานิเทศ หมอดูและนักโหราศาสตร์ชื่อดังของไทยโดยมีใจความดังต่อไปนี้
“ตามตำนานปู่อือลือที่ข้องเกี่ยวกับบึงโขงหลงนั้น เชื่อว่า เกิดจากการล่มเมืองของพญานาค ซึ่งเกิดจากความรักที่ไม่สมหวังระหว่างพญานาคกับมนุษย์ ทำให้เมืองที่เจริญรุ่งเรืองล่มสลาย บริเวณแห่งนี้เดิมเป็นที่ตั้งเมือง ชื่อ รัตพานคร มี พระอือลือราชา เป็นผู้ครองนคร มเหสีชื่อ นางแก้วกัลยา มีพระธิดาชื่อ พระนางเขียวคำ ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าสามพันตา มีพระโอรสชื่อ เจ้าชายฟ้ารุ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเฉลียวฉลาด มีความรอบรู้ และมีรูปงามด้วย
ขณะประสูติมีท้องฟ้าสว่างไสว ต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ นาครินทรานี ซึ่งเป็นพระธิดาของพญานาคราชแห่งเมืองบาดาล ที่แปลงกายเป็นมนุษย์ การอภิเษกสมรสจัดกันอย่างมโหฬาร ทั้งเมืองบาดาล และเมืองมนุษย์ (รัตพานคร) ทำอยู่ 7 วัน 7 คืน เพื่อเป็นการสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างพญานาคราช กับ พระเจ้าอือลือราชา ในโอกาสนี้ด้วย ทั้งสองอยู่กินกันมาเป็นเวลา 3 ปี ก็ไม่สามารถจะมีผู้สืบสายสกุลได้ (เพราะธาตุมนุษย์กับนาค) จึงทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจกับทั้งสอง
ต่อมาเจ้าหญิงนาครินทรานี ล้มป่วยลง ทำให้ร่างกายของนางที่เป็นมนุษย์กลายเป็นนาคตามเดิม โดยข่าวนี้ได้แพร่สะพัดออกไปทั่วกรุงรัตพานคร และถึงแม้นางจะร่ายมนตร์กลับเป็นมนุษย์ ประชาชนและพระเจ้าอือลือก็ไม่พอใจ จึงได้ขับไล่นางนาครินทรานีกลับสู่เมืองบาดาลดังเดิม โดยได้แจ้งให้พญานาคราชมารับตัวกลับ ก่อนกลับพญานาคราช ได้ขอเครื่องกกุธภัณฑ์ของตระกูลคืน
แต่พระเจ้าอือลือราชาไม่สามารถคืนให้ได้ เนื่องจากนำไปแปรสภาพเป็นอย่างอื่น ทำให้พญานาคราชกริ้วมาก และประกาศว่าจะทำลายเมืองรัตพานคร และจะเหลือเอาไว้เพียง 3 วัดเท่านั้น หลังจากพญานาคกลับไป ในตอนกลางคืน พญานาคราชได้ยกไพร่พลมาถล่มเมืองรัตพานคร และประชาชนก็ไม่มีใครรอดพ้นจากฤทธิ์นาคได้ พอนางนาครินทรานีทราบข่าว ก็ขึ้นมาตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง
จนถึงแม่น้ำสงครามก็ไม่พบ จึงกลับเมืองบาดาล เมืองรัตพานครได้ถล่มเป็น “บึงหลงของ” ต่อมานานเข้าคำพูดก็กลายเป็นโขงหลง และวัดที่เหลือ 3 วัด ก็คือ วัดดอนแก้ว (วัดแก้วฟ้า) วัดดอนโพธิ์ (วัดโพธิสัตว์) และ วัดดอนสวรรค์ (วัดแดนสวรรค์) ทางที่นางนาครินทรานีตามหาเจ้าชายฟ้ารุ่ง คือ ห้วยน้ำเมา (เมารัก) ส่วนพระอือลือราชา ไม่ได้สิ้นพระชนม์ไปกับเหตุการณ์นี้ด้วย แต่ถูกพระยานาคราชจับตัวไว้ พร้อมกับสาปให้พระอือลือราชากลายร่างเป็นนาค เฝ้าอยู่ในบึงโขงหลงชั่วนิรันดร์ จนกว่าจะมีเมืองเกิดใหม่ในดินแดนแห่งนี้ จึงจะล้างคำสาปของพระยานาคราชได้”
สำหรับใครที่อยากจะบูชาหรือไหว้ขอพรก็ทำตามได้ดังนี้
- จุดธูป 9 ดอก หรือจุดกำยาน 1 ดอก
- ถวายน้ำเปล่าสะอาด 1 แก้ว (เปิดขวดใหม่เท่านั้น)
- ถวายพร้อมดอกบัวสีขาว 1 ดอก
- สวดคาถาบูชาพ่อปู่อือลือ ดังนี้
(ตั้งนะโม 3 จบ)
เอหิสังคัง ปิโยนาคะ สุปันนานัง นะมามิหัง
กายะ วาจา จิตตัง อหังวันทา อือลือนาคราชราชา วิสุทธิเทวาปูเชมิ
เมตตัญจะ มหาลาโภ ปิโยนาคะ ขันธะปะริตตัง
จะมาสักการะบูชา พ่อปู่อือลือ เกาะดอนโพธิ์ ได้อย่างไร
เมื่อถึงบึงกาฬแล้วให้ไปตรงไปที่บึงโขงหลง ภายในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ต.บึงโขงหลง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ โดยการนั่งเรือเข้าไปใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที (แล้วแต่ท่าเรือที่ใช้บริการ ใกล้-ไกล) ค่าโดยสาร 50 บาทขึ้นไป เมื่อไปถึงก็จะมีเจ้าหน้าที่ ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง คอยอำนวยความสะดวกในการขึ้น-ลง เรือ ชี้แจงระเบียบก่อนเข้าเขตและลงทะเบียน ตรวจคัดกรอง วัดอุณหภูมิร่างกาย โดยทุกคนที่เข้าไปต้องสวมหน้ากากอนามัย พร้อมกับชำระเงินค่าธรรมเนียม เข้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 200 บาท เด็ก 100 บาท ยกเว้นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้พิการเข้าฟรี